ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

20 กันยายน วันเยาวชนแห่งชาติ

 
 

      ระหว่างความเป็นเด็กและผู้ใหญ่ มีพื้นที่เล็กๆของการเป็นเยาวชนแทรกตัวอยู่ เมื่อพ้นจากวันแห่งวัยเด็ก มาสู่" วันเยาวชนแห่งชาติ " ด้วยจังหวะแห่งการเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ทำให้อยู่ในความสนใจที่ควรให้ความสำคัญอย่างไม่แพ้กัน
วันเยาวชนเเห่งชาติ แรกเริ่มนั้นเนื่องจากองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้ ปีพุทธศักราช 2528 เป็นปีเยาวชนสากล ขอให้ประเทศสมาชิกร่วมเฉลิมฉลองปีเยาวชนสากลภายใต้คำขวัญ “Participation Development and Peace” คณะรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2528 กำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี เป็นวันเยาวชนเเห่งชาติ เนื่องจากวันดังกล่าว เป็นคล้ายวันพระราชสมภพของยุวกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีสองพระองค์ เป็นวันอันเป็นสิริมงคลที่เยาวชนได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ คือ


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กัยยายน พ.ศ. 2396 เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ด้วยพระชนมพรรษาเพียง 16 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ( รัชกาลที่ 8) ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ด้วยพระชนมพรรษาเพียง 12 พรรษา



คำว่าเยาวชนนั้น หากนึกภาพแบบทั่วๆไปตามความรู้สึกก็จะนึกถึงเด็กรุ่นวัยหนุ่มสาวนั้นเอง แต่หากให้ได้ความหมายที่เป็นทางการขึ้นมาเสียหน่อย อย่างถือตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ก็จะได้ความว่า “เยาวชน” หมายถึง บุคคลที่มีอายุเกิน 14 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ และไม่ใช่เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วด้วยการสมรส


แต่หากอิงตาม องค์การสหประชาชาติ ก็จะมีความต่างกันของอายุตรงที่จะมากกว่านั้นคือ “เยาวชน” หมายถึง คนในวัยหนุ่มสาว ผู้มีอายุระหว่าง 15 - 25 ปี


การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นหนึ่งสิ่งที่รัฐให้ความสำคัญอย่างมาก ด้วยเชื่อว่าเหนือสิ่งอื่นใดแล้วคุณภาพของคนย่อมนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญ และทางแห่งการสร้างให้คนมีศักยภาพได้นั้น แน่นอนว่าต้องปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก วัยหนุ่มสาวของเยาวชน เป็นวัยที่เต็มไปด้วยแรงไฟ และพลังแห่งการเรียนรู้ เมื่อได้รับการประคับประคองจากสังคม เยาวชนย่อมจะเป็นพลังของชาติในวันข้างหน้า


เป้าหมายของวันเยาวชน

1. เพื่อให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญ ในการพัฒนาตนเองพัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศ
2. เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของ การพัฒนาเยาวชนให้เป็นทรัพยาการบุคคลที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ ทั้งในด้านคุณภาพ และคุณธรรม
3. เพื่อให้นโยบายส่งเสริม และพัฒนาเยาวชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สัมฤทธิ์ผล



คำขวัญวันเยาวชนแห่งชาติ
สืบเนื่องมาจากคำประกาศขององค์การสหประชาชาติ ได้ขอให้ประเทศสมาชิกร่วมเฉลิมฉลองปีเยาวชนสากลภายใต้คำขวัญ “Participation Development and Peace” ถอดความเป็นภาษาไทยว่า “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” โดยละเอียดแล้วแต่ละคำซึ่งมีความหมายละเอียดลึกซึ้งต่อเยาวชนทุกคน สามารถยึดถือและนำไปปฏิบัติดังนี้



ร่วมแรงแข็งขัน (participation) หมายถึง การยอมรับในศักยภาพของแต่ละบุคคล ที่จะสามารถวินิจฉัยและตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง และตระหนักว่าตนมีโอกาส ได้ใช้โอกาสและพึงพอใจที่ได้ใช้โอกาสด้วยตนเองอย่างเกิดคุณค่าโดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ใด การที่เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมและมีบทบาทต่อชาติบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่นั้น เป็นความสำเร็จของสังคมและประเทศชาติที่สำคัญ


ช่วยกันพัฒนา (development) การพัฒนานั้นมองได้ 2 มิติ มิติหนึ่งคือ การพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล และอีกมินิหนึ่งคือ การพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญ และอีกมิติหนึ่งคือการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญและมีคุณค่าต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ขณะเดียวกัน การพัฒนาสังคมและประเทศชาติก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาของบุคคลด้วยกระบวนการพัฒนา 2 ส่วนนี้ จึงมีความต่อเนื่อง สัมพันธ์กัน และในสภาวะปัจจุบัน ความร่วมมือในระดับนานาชาติ จะมีผลอย่างสำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ


ใฝ่หาสันติ (peace) สันติภาพเป็นหลักการพื้นฐานของชีวิต ความต้องการสันติภาพ เป็นความต้องการของสากลโลก ซึ่งทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพและดำรงคงไว้ คนหนุ่มสาวจึงต้องร่วมมือกันในเรื่องนี้ ผลักดันให้เกิดมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในวิถีการพัฒนาด้วยสันติ และสร้างสำนึกสันติภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังสั่งสอนเยาวชนให้รู้จักเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน มีความอดกลั้น ความเป็นประชาธิปไตย และเสรีภาพพื้นฐาน


เครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ


ในปี พ.ศ.2517 สำนักเยาวชนแห่งชาติ ได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารและประสานงานเยาวชนแห่งชาติว่า เพื่อประสิทธิภาพและความมั่นคงในการดำเนินงานเยาวชนแห่งชาติ สมควรที่ขอรับพระราชทาน “เครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ผูกพันพลังน้ำใจ และเป็นเครื่องยึดมั่นสักการบูชาร่วมกันของบรรดาเยาวชน กลุ่มเยาวชน และหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชน จึงได้เสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ซึ่งสำนักพระราชเลขาธิการได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท แล้วไม่ทรงขัดข้อง จึงมีพระบรมราชานุญาตให้นำพระมหาพิชัยมงกุฎประดับบนส่วนยอดเครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ


เครื่องหมายเป็นรูปโล่สีธงชาติ มีอักษรสีขาวคำว่า “เยาวชน” อยู่ในวงกลมพื้นสีเขียว เบื้องบนเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ มีรัศมีอุณาโลม เบื้องล่างมีอักษรสีแดงว่า “พลังพัฒนาชาติ” รองรับด้วยรวงข้าว 9 รวง แยกอยู่ทางด้านขวา 5 รวง ด้านซ้าย 4 รวง




เครื่องหมายเยาวชนนี้ได้รับพระราชทาน และพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระมหาพิชัยมงกุฎบนส่วนยอดของเครื่องหมาย
เพื่อเป็นมิ่งขวัญ กำลังใจ และศิริมงคลแก่ชีวิตของเยาวชน



โดยสัญลักษณ์ต่างๆ มีความหมายถึง


1. พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ องค์ประมุขสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นที่เคารพ สักการะ และเป็นจุดรวมน้ำใจของคนทั้งประเทศ


2. รัศมีที่พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง พระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งหมายความว่า เยาวชนไทยนั้นอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือได้รับพระบารมีปกเกล้าฯ


3. อุณาโลม หมายถึง หว่างพระขนงของพระพุทธเจ้า ใช้เป็นเครื่องหมายแทนศาสนา


4. อักษรเยาวชนสีขาวในพื้นวงกลมสีเขียวรูปโล่สีธงชาติ หมายถึง พลังอันบริสุทธิ์แห่งความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเยาวชนไทย อันจะนำไปสู่ความสำเร็จ การเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาการกสิกรรม อันเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ


5. รวงข้าวทั้ง 9 รวง มีความหมายถึง เป้าหมายในการพัฒนาเยาวชนทั้ง 9 ประการ ตามนโยบายเยาวชนแห่งชาติ โดยที่รวงข้าวหมายถึง ความเติบโตงอกงาม ฉะนั้น คุณลักษณะ 9 ประการที่จะปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตัวเยาวชน จึงเปรียบเสมือนคุณสมบัติที่จะงอดงามขึ้นตามตัวเยาวชน


6. อักษรว่า พลัง พัฒนาชาติ เป็นคำขวัญ เพื่อเตือนใจเยาวชนให้ตระหนักว่า พวกเขานั้นมีพลังบริสุทธิ์อันหนักแน่น จริงจัง ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากในการช่วยพัฒนาประเทศชาติ


คุณสมบัติเด็กและเยาวชนที่พึ่งประสงค์ 6 ประการ


1. มีความผูกพันในครอบครัว ภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีทักษะในอาชีพและการดำรงชีวิตที่รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น
2. มีสุขภาพและพลานามัยแข็งแรงและรู้จักการป้องกันตนเองจากโรคและสิ่งเสพติด
3. มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ จริยธรรม คุณธรรม และมีพฤติกรรมด้านความรับผิดชอบตามวัย
4. มีเจตคติที่ดีต่อการทำงาน มีศักดิ์ศรีและความภูมิใจในการทำงานสุจริต
5. รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลรอบด้าน และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
6. รู้จักช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ





กิจกรรมวันเยาวชนแห่งชาติ




กิจกรรมวันเยาวชนแห่งชาติ ภาพระกอบจาก www.vijai.org


ในวันเยาวชนแห่งชาติ กิจกรรมต่างๆก็คล้ายงานวันเด็ก เพียงแต่จะเป็นกิจกรรมของคนที่โตขึ้นมาหน่อย ทางด้านร่างกาย จิตใจ วุฒิภาวะ ปัญหาความต้องการ ตลอดจนความคาดหวังที่สังคมมีต่อบุคคลทั้ง ๒ กลุ่ม โดยมีทั้งหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันสรรสร้างจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น เป็นการกระตุ้นและประชาสัมพันธ์ ให้เยาวชนได้ปลุกศักยภาพในตัวตน และกลับมามองบทบาทหน้าที่ของตนเองที่ควรมีต่อสังคม เช่น กิจกรรมการแข่งขัน จัดประกวดต่างๆ การรณรงค์ปลูกป่าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การบำเพ็ญประโยชน์และสังคมสงเคราะห์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองและสังคม เพื่อเป็นกำลังที่สวยงามของชาติต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น